โฆษก สปสช.แจงข้อสังเกต ‘เงินบำรุง รพ.ติดลบ’ จากบัตรทอง จ่อแจ้งรายละเอียดจัดสรรงบฯปี’68 รวมถึงการจัดสรรงบฯในปีหน้าด้วย
20 เม.ย. 68 – ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงกรณีข่าวองค์กรแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) พุทธชินราช ชี้เงินบำรุงติดลบ เหตุกองทุนหลักประกันสุขาพแห่งชาติจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำกระทบบริการประชาชนและขวัญกำลังใจบุคลากร ว่า จากข่าวดังกล่าว มี 2 เรื่อง ที่อยากชี้แจง
เรื่องแรก เงินบำรุงลดลงเนื่องจากภาระงานต้นทุนสูงขึ้น หลังเพิ่มนวัตกรรมการรักษา ตีความว่า นวัตกรรมในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพ ปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะมีการพิจารณาว่า ถ้ามีประชาชน นักวิชาการ หรือบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ต้องการให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ จะมีการคัดกรองเป็นชั้นๆ หากคณะกรรมการฯ เห็นว่า เป็นประโยชน์กับประชาชน จะบรรจุลงในสิทธิประโยชน์ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
“ยกตัวอย่าง สิทธิประโยชน์การฉายรังสีโปรตอนเพื่อรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็ก เป็นนวัตกรรมที่ประเทศไทยทำอยู่ได้แค่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีการจัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อดูแลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งสมอง การยิงโปรตอนแม่นมาก ไม่ต้องผ่าตัด ทำให้ก้อนเนื้องอกในสมองลดลงได้ โดยเนื้อสมองส่วนอื่นไม่ได้รับความเสียหาย” ทพ.อรรถพร กล่าว
โฆษก สปสช. กล่าวว่า ในปีนี้ รัฐบาลยังจัดทำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งมีคลินิกเข้าร่วมโครงการกว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งทำมาได้กว่า 1 ปีแล้ว จากการทำผลสำรวจพบว่า ประชาชนพึงพอใจสูงมาก กว่าร้อยละ 90 ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้นในหลายพื้นที่
“ส่วนการจัดสรรงบที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนนั้น สมัยก่อนการจัดสรรงบฯ จะเป็นการคิดกันในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่บอร์ดแต่งตั้งขึ้น ต่อมา มีการตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ระดับ ชุดหนึ่งอยู่ที่เขต หรือ คณะกรรมการ 5×5 อีกชุดหนึ่ง อยู่ที่ส่วนกลาง หรือคณะกรรมการ 7×7 มีภาคส่วนของ สธ. 7 คน และตัวแทน สปสช. 7 คน มีการประชุมหารือทุกเดือน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัญหาที่เป็นข่าวพบว่า ประธานองค์กรแพทย์ปรารถนาดี มีการโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องเงินบำรุงโรงพยาบาล และอธิบายว่า เงินบำรุงโรงพยาบาลครอบคลุมอะไร สถานะเงินบำรุงมีผลต่อแพทย์อย่างไร รวมถึงแนะนำว่า บทบาทของแพทย์จะเพิ่มเงินบำรุงได้อย่างไร
“ทั้งหมดในเฟซบุ๊ก ไม่ได้มีเนื้อหาตามที่ปรากฏเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ เมื่อฟังเรื่องนี้ก็กังวลว่า โรงพยาบาลขาดทุน แล้วจะเป็นอย่างไร โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้รับการจัดสรรเงินไม่เท่ากันหรืออย่างไร แต่ละที่ได้รับงบเท่าไร
จึงคิดว่า สปสช.ควรเปิดข้อมูลเหล่านี้ จะมีการหารือกับทีมว่า ในการนำข้อมูลการจัดสรรงบในปี 2568 การทำงานร่วมระหว่าง สธ.และ สปสช. ตกลงร่วมกันในการจัดสรรงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การส่งเสริมป้องกันโรค แต่ละรายการเป็นเงินเท่าไร มีรายละเอียดอย่างไร
จะลองไปทำตัวเลขโพสต์ให้ดู เพราะงบในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาจากภาษีทั้งนั้น หลังจากทำข้อมูลเสร็จแล้วจะชี้แจง รวมถึงการจัดสรรงบในปีหน้าด้วย ให้เห็นการจัดสรรตั้งแต่วันแรก จนถึงมติ ว่าที่ไปที่มาอย่างไร หากมีความคืบหน้าจะแจ้งอีกครั้ง” ทพ.อรรถพร กล่าว