เปิด สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ที่ถูกกล่าวถึงในละคร “คุณพี่เจ้าขา” สยามลงนามกับอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 3 มีเงื่อนไขต้องไม่แย่งชิงดินแดนของกันและกัน
กระแสดีต่อเนื่องทุกตอน สำหรับละคร คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านไม่ใช่หงส์ แสดงนำโดย โบว์ เมลดา และ ภณ ณวัสน์ ซึ่งสอดแทรกเกร็ดความรู้อิงประวัติศาสตร์ โดยใน EP.5 ออกอากาศวันที่ 5 ก.พ. 2568 ช่วงหนึ่ง โบว์ เมลดา ที่รับบท บุญตา ได้พูดถึง สนธิสัญญาเบอร์นีย์
ข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า สนธิสัญญาเบอร์นีย์ เป็นสนธิสัญญาที่สยามตกลงลงนามกับอังกฤษเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมี ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ (Henry Burney) นักการทูตอังกฤษของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เป็นผู้แทนเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญา
หลังจากที่ จอห์น ครอว์ฟอร์ด (John Crawfurd) ทูตอังกฤษคนแรก เข้ามาเจรจาสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แต่ไม่สำเร็จ
สนธิสัญญาเบอร์นีย์นับเป็นสัญญาพระราชไมตรี-พาณิชย์ฉบับแรก ที่สยามทำกับประเทศตะวันตกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
เนื่องจากในช่วงเวลานั้น อังกฤษกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในพม่า ซึ่งอังกฤษได้เข้ายึดครองดินแดนบางส่วน และการขยายตัวของอังกฤษในพม่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สยามต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอังกฤษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
สนธิสัญญาเบอร์นีย์ มุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีและขยายการค้าเป็นหลัก มีข้อตกลงที่น่าสนใจดังนี้
1. ทั้งสองประเทศตกลงที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะไม่คิดร้ายหรือแย่งชิงดินแดนของกันและกัน หากเกิดคดีความในอาณาเขตของสยาม ผู้กระทำผิดจะต้องถูกตัดสินตามกฎหมายสยาม และชาวอังกฤษต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีสยามทุกประการ
พ่อค้าอังกฤษ รวมถึงผู้บังคับการเรือ นายเรือ และลูกเรือ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสยาม หากเกิดความผิด เช่น การฆาตกรรมโดยเจตนา ผู้กระทำผิดจะถูกประหารชีวิต ส่วนความผิดอื่น ๆ จะถูกปรับ โบย หรือจำคุกตามกฎหมาย
2. ในด้านการค้าระหว่างประเทศ เรือของชาวอังกฤษหรือชาวเอเชียใต้บังคับบัญชาของอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสยามทุกประการ ไม่สามารถนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกนอกประเทศได้
3. มีการควบคุมสินค้าอาวุธ หากเรือนำอาวุธ เช่น ปืน กระสุน หรือดินดำเข้ามา จะต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น และหากรัฐบาลไม่ต้องการ ต้องนำออกไป
4. มีเสรีภาพในการค้า ทั้งพ่อค้าอังกฤษและสยามสามารถซื้อขายสินค้าอื่น ๆ นอกจากข้าวและอาวุธยุทธภัณฑ์ ได้อย่างเสรี
5. รัฐบาลสยามสามารถเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษตามความกว้างของปากเรือ
ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 สยามกลับมาใช้นโยบายผูกขาดอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าสยามจำกัดขอบเขตการเข้ามาของตะวันตก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเบอร์นีย์ ทำให้อังกฤษเกิดความไม่พอใจ จนนำไปสู่การเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริงใน พ.ศ. 2398